องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบอน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว : www.nongbon.go.th

 
 
อำนาจหน้าที่

โครงสร้างรวมและอำนาจหน้าที่ของ อบต. ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล
และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562

องค์การบริหารส่วนตำบล
  1. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล : มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
  2. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม : การจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

สภาองค์การบริหารส่วนตำบล
1. สภา อบต. ประกอบด้วยสมาชิกสภา อบต. ซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขต อบต. นั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน หมู่บ้านละ 1 คน : อบต. ใดมี 2 หมู่บ้านๆ ละ 3 คน : ถ้ามี 1 หมู่บ้านให้มีสมาชิก 6 คน มีอายุคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 45)
  2. สภา อบต. มีประธานสภา อบต. 1 คน รองประธานสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภาเลือกจากสมาชิกให้นายอำเภอแต่งตั้ง (มาตรา 48) ดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต. (มาตรา 49) และมีเลขานุการสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภาเลือกจากปลัด อบต. หรือสมาชิกสภา อบต. ดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต. หรือสภา อบต. มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 57) 
  3. การประชุมสภา อบต. ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญ 2 - 4 สมัย แล้วแต่สภา อบต. จะกำหนด : สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดไม่เกิน 15 วัน (มาตรา 58) : เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของ อบต. สามารถขอเปิดประชุมวิสามัญได้ สมัยประชุมวิสามัญให้กำหนดไม่เกิน 15 วัน (มาตรา 53)

อำนาจหน้าที่ของสภา อบต.
  1. เลือกประธานสภา รองประธานสภา (มาตรา 48) และ เลขานุการสภา อบต. (มาตรา 57)
  2. รับทราบนโยบายของนายก อบต. ก่อนนายก อบต. เข้ารับหน้าที่และรับทราบรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่นายก อบต. ได้แถลงไว้ต่อสภา อบต. เป็นประจำทุกปี (มาตรา 58/5)
  3. มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 46 ดังนี้
           (1) ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา อบต. เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการของ อบต.
           (2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ อบต. ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
           (3) ควบคุมการปฏิบัติงานของนายก อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
  4. ในที่ประชุมสภา อบต. สมาชิกสภา อบต. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามต่อนายก อบต. หรือรองนายก อบต. ในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ (มาตรา 56/1) : เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้นายก อบต. แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร อบต. โดยไม่มีการลงมติ (มาตรา 58/7) + นายก อบต.
  1. อบต. มีนายก อบต. 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 58) : ดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้งและมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ (มาตรา 58/2) 
  2. นายก อบต. สามารถแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบต. ได้ไม่เกิน 2 คน : แต่งตั้งเลขานุการนายก อบต. ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภา อบต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ 1 คน (มาตรา 58/3)

อำนาจหน้าที่ของนายก อบต.
  1. ก่อนเข้ารับหน้าที่ นายก อบต. ต้องแถลงนโยบายต่อสภา อบต. โดยไม่มีการลงมติ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งต่อสมาชิกสภา อบต. ทุกคน และจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา อบต. เป็นประจำทุกปี (มาตรา 58/5)
  2. มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 59 ดังนี้
          (1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
          (2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบต.
          (3) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายก อบต. และเลขานุการนายก อบต. 
          (4) วางระเบียบเพื่อให้งานของ อบต. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          (5) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ อบต.
          (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่น
  3. ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. (มาตรา 60)
  4. นายก อบต. รองนายก อบต. หรือผู้ซึ่งนายก อบต. มอบหมายมีสิทธิเข้าประชุมสภา อบต. และมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุมแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (มาตรา 58/6)
  5. กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภา อบต. หรือสภา อบต. ถูกยุบตามมาตรา 53 หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายก อบต. จะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกประธานสภา อบต. แล้วให้เรียกประชุมสภา อบต. เพื่อให้นายก อบต. แถลงนโยบายโดยไม่มีการลงมติภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเลือกตั้งประธานสภา อบต. (มาตรา 58/5 วรรคสอง)
  6. กรณีนายก อบต. ปฏิบัติการที่อาจเสียหายแก่ อบต. หรือราชการ และนายอำเภอได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้าไม่ได้ นายอำเภอมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายก อบต. ไว้ตามที่เห็นสมควรได้ แล้วรีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 15 วัน เพื่อวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว : การกระทำของนายก อบต. ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันกับ อบต. (มาตรา 90)
  7. เป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ อบต. (มาตรา 71) ร่างข้อบัญญัติประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (มาตรา 87)
  8. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ อบต. (มาตรา 65)

พนักงานส่วนตำบล
  1. พนักงานส่วนตำบล หมายถึง ข้าราชการซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการของ อบต. โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของ อบต. หรือจากงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่ อบต. และ อบต. นำมาจัดเป็นเงินเดือนของพนักงานส่วนตำบล
  2. ปลัด อบต. เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. รองนายก อบต. และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของ อบต. ให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่นายก อบต. มอบหมาย
  3. การบริหารงานบุคคลของ อบต. ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
 4. อบต. จะวิเคราะห์บทบาทภารกิจอำนาจหน้าที่ และรายได้ของตนเองเพื่อกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ และอัตรากำลังตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยปกติทุก อบต. จะมีตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
            (1) ปลัด อบต.
            (2) รองปลัด อบต.
            (3) ผู้อำนวยการกองคลัง
            (4) ผู้อำนวยการกองช่าง
            (5) ผู้อำนวยการกองการศึกษา

ประชาชนในเขต อบต.
  1. ได้รับการแก้ไขปัญหาพัฒนาความเป็นอยู่และการบริการสาธารณะจาก อบต. ตามอำนาจหน้าที่ของ อบต.
   2. มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต.
   3. มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอให้ออกข้อบัญญัติ อบต.
   4. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการซื้อการจ้าง โดยวิธีสอบราคา ประกวดราคา และวิธีพิเศษของ อบต. อย่างน้อยคณะละ 2 คน
   5. มีสิทธิเข้าฟังการประชุมสภา อบต.
   6. มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภา อบต. หรือผู้บริหาร อบต. ตามกฎหมายกำหนด หากเห็นว่าผู้นั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
   7. มีหน้าที่ไปเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. โดยตรง
  8. มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบัญญัติของ อบต.
   9. มีหน้าที่เสียภาษีให้แก่ อบต. อย่างถูกต้อง
  10.สนับสนุนการดำเนินงานของ อบต. และร่วมกิจกรรมกับ อบต.
  11. ติดตามข่าวสาร ตรวจสอบและแนะนำการทำงานของ อบต.
  12. มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนา อบต. การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของ อบต. ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
 
อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
 อำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562
  1. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
  2. ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 67)
          1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
          2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะรวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
          3) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
          4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
          5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
          6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
          7) คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
          8) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
          9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากร ให้ตามความจำเป็นและสมควร
 3. ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจกรรมในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 68)
          1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
          2) ให้มีการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
          3) ให้มีการบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
          4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุมการกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ
          5) ให้มีการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์
          6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
          7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
          8) การคุ้มครองดูแล และรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
          9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
          10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
          11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
          12) การท่องเที่ยว
          13) การผังเมือง
  4. การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบลต้องแจ้งให้ อบต. ทราบล่วงหน้าตามสมควร หาก อบต. มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าว ให้นำความเห็นของ อบต. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินกิจการนั้นด้วย (มาตรา 69)
  5. การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ อบต. ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนา อบต. การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด (มาตรา 69/1)
  6. มีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ ของทางราชการในตำบล เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวกับ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (มาตรา 70)
  7. ออกข้อบัญญัติ อบต. เพื่อใช้บังคับในตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ของ อบต. ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกิน 1,000 บาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 71)
  8. อาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการของ อบต. เป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม (มาตรา 72)
  9. อาจทำกิจการนอกเขต อบต. หรือร่วมกับสภาตำบล อบต. อบจ. หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อกระทำกิจการร่วมกันได้ (มาตรา 73)

อำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
  1. มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้ (มาตรา 16)
          (1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
          (2) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
          (3) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
          (4) การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น ๆ
          (5) การสาธารณูปการ
          (6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ
          (7) การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน
          (8) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
          (9) การจัดการศึกษา
          (10) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
          (11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
          (12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
          (13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
          (14) การส่งเสริมกีฬา
          (15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
          (16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
          (17) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
          (18) การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
          (19) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
          (20) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
          (21) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
          (22) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
          (23) การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
          (24) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
          (25) การผังเมือง
          (26) การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร
          (27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
          (28) การควบคุมอาคาร
          (29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
          (30) การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน
          (31) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องที่ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  2. อำนาจหน้าที่ของ อบต. ตามข้อ 1 ต้องดำเนินการตาม “แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น